Thaksin University      

        
3. องค์ประกอบทางด้านบุคคลากร (Personnel)

         ถึงแม้ระบบคอมพิวเตอร์จะประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งทางด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ แต่ระบบคอมพิวเตอร์จะไม่สามารถทำงานได้ถ้าขาดอีกองค์ประกอบหนึ่ง  ซึ่งได้แก่  องค์ประกอบทางด้านบุคลากรที่จะเป็นผู้จัดการและควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น  คอยแก้ไขปัญญาหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์  พัฒนาโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ รวมไปถึงการใช้งานโปรแกรมประยุกต์ที่ถูกพัฒนาขึ้น เราสามารถแบ่งบุคลากรที่มีหน้าที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ออกได้เป็น 5 ประเภทตามลักษณะของงานดังนี้

           1. หัวหน้าหน่วยงานคอมพิวเตอร์ (EDP Manager หรือ Electronic Data Processing Manager)
 
          เป็นบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งทางบริหาร  ซึ่งจะเป็นหัวหน้าของบุคคลทางคอมพิวเตอร์ทั้งหมด  จะมีหน้าที่วางแผนงาน
 กำหนดนโยบายของหน่วยงาน  จัดทำโครงการและแผนงานการใช้ระบบคอมพิวเตอร์  จัดหาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่จำเป็นจะต้องใช้ในองค์กร  อำนวยการฝึกอบรมความรู้ให้กับบุคลากรทางคอมพิวเตอร์  เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนอกจากนี้จะต้องเป็นผู้คอยตรวจสอบและติดตามผลงานของผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาว่า มีความก้าวหน้าในการทำงานเป็น อย่างไรด้วย ดังนั้นบุคลากรในตำแหน่งนี้จึงต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง  มีความรู้ความสามารถมองเห็นการณ์ไกล  และต้องหมั่นติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอยู่เสมอ

         2. บุคคลากรทางด้านระบบ (System)  ประกอบด้วยบุคคลากรที่มีตำแหน่งดังต่อไปนี้
                 2.1 นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst หรือ SA)
                เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการวิเคราะห์และออกแบบระบบ  โดยจะรวบรวมข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบงานเดิมและความต้องการของผู้ใช้  เพื่อนำมาทำการวิเคราะห์และออกแบบระบบงานใหม่  หรือปรับปรุงระบบงานเดิม  เพื่อให้การทำงานในระบบงานใหม่มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าระบบงานเดิม โดยปกติ SA จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานมาพอสมควร  และควรมีพื้นฐานการเขียนโปรแกรมมาก่อน  ถึงแม้ว่า SA จะไม่ได้เป็นผู้เขียนโปรแกรมเอง  แต่ SA จะต้องเป็นผู้ค้นหาวิธีการและขั้นตอนต่างๆ ในการเขียนโปรแกรมส่งให้กับนักเขียนโปรแกรมทำการเขียนอีกทีหนึ่ง  นอกจากนี้ SA ควรจะเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  มีมนุษย์สัมพันธ์ดี  เพราะจะต้องมีหน้าที่ติดต่อกับคนในหลายระดับ  ซึ่งในบางองค์กรอาจมีพนักงานบางคนที่ไม่เข้าใจในระบบคอมพิวเตอร์  และต่อต้านการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้  ดังนั้น SA จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการชี้นำให้เขาเห็นถึงประโยชน์ของการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการทำงานได้
                 2.2 นักเขียนโปรแกรมระบบ (System Programmer  หรือ SP)
                        จะมีหน้าที่เขียนโปรแกรมระบบควบคุมเครื่อง  จะคอยตรวจสอบและแก้ไขเมื่อระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหา บุคลากรประเภทนี้จะต้องมีความรู้ทางด้านฮาร์ดแวร์เป็นอย่างดี  เพราะต้องมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาต่างๆเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์เมื่อระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหา  และต้องคอยพัฒนาโปรแกรมอำนวยความสะดวกต่างๆขึ้นมา เช่น โปรแกรมที่ช่วยในการสำรองข้อมูลในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์  เพื่อช่วยให้การทำงานระบบคอมพิวเตอร์มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
                 2.3 บุคคลากรทางด้านการเขียนโปรแกรม
 
                       นักเขียนโปรแกรมหรือโปรแกรมเมอร์ (Programmer) จะทำหน้าที่เขียนโปรแกรมประยุกต์ (Application Program) ทางคอมพิวเตอร์  ตามขั้นตอนวิธีที่นักวิเคราะห์ระบบได้ออกแบบไว้  เพื่อให้ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์สามารถใช้งานโปรแกรมประยุกต์นั้นได้  นักเขียนโปรแกรมจึงควรเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับซอฟต์แวร์เป็นอย่างดี  แต่อาจไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในรายละเอียดเกี่ยวกับฮาร์แวร์ก็ได้  ควรเป็นคนมีความอดทนในการทำงานสูง เนื่องจากการเขียนโปรแกรมจะต้องพบกับข้อผิดพลาด (errors) ของโปรแกรมที่อาจเกิดขึ้นมากมาย  ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นให้ได้นอกจากนี้ควรมีความรอบคอบและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  หมั่นติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี  หาความรู้ใหม่ๆ  เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา  เพื่อพัฒนาเทคนิคที่เหมาะสมในการพัฒนาโปรแกรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 
                    นักเขียนโปรแกรมยังสามารถแบ่งออกได้เป็นอีก 2 แบบ ตามลักษณะงานดังนี้
                   - งานการสร้างโปรแกรมประยุกต์  (Application Programming)
                                    เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการเขียนและพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ทั้งหมดของระบบตามที่นักวิเคราะห์ระบบเป็นผู้ออกแบบให้ ซึ่งมักจะเป็นระบบที่เริ่มมีการพัฒนาเป็นครั้งแรก
                   - งานการบำรุงรักษาโปรแกรม  (Maintenance Programming)
                         ระบบอาจมีการพัฒนาเสร็จแล้ว  แต่ต่อมาต้องการเปลี่ยนแปลงระบบในบางจุด  เช่น  อาจต้องมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัย  ดังนั้นนักเขียนโปรแกรมทางด้านนี้ต้องคอยตามแก้ไขโปรแกรมเก่าๆ ในระบบ
ที่เขียนไว้แล้วเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการใหม่ของระบบ

           3. ดีบีเอ (DBA หรือ DataBase Administrator)
                เป็นบุคลากรที่จะพบในองค์กรที่มีการจัดการข้อมูล ซึ่ง DBA จะเป็นผู้มีหน้าที่ในการออกแบบและควบคุมกาใช้งานฐานข้อมูล  จะสามารถสร้างและแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของฐานข้อมูลได้ ซึ่งโดยปกติผู้ใช้งานทั่วไปจะไม่สามารถเข้าไปยุ่งหรือจัดการกับฐานข้อมูล  นอกจากนี้จะต้องควบคุมดูแลฐานข้อมูลมีการเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง  ทันสมัยอยู่เสมอ  และยังคอยแก้ปัญหาเมื่อระบบฐานข้อมูลมีปัญหาเกิดขึ้นด้วย

          4. ผู้ปฏิบัติการ (Operator)
                จะเป็นเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์  ที่มีหน้าที่คอยปิดและเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์  และคอยเฝ้าดูระบบ  เมื่อมีปัญหาใดๆเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์  ก็จะเป็นผู้แจ้งให้กับนักเขียนโปรแกรมระบบทราบเพื่อทำการแก้ไขต่อไป  และยังมีหน้าที่ส่งงานต่างๆเข้าไปประมวลผลในคอมพิวเตอร์  และคอยรับรายงานการประมวลผล  เพื่อแจกจ่ายให้แก่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  นอกจากนี้ยังต้องทำหน้าที่สำรอง (Backup) ข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นไปเก็บไว้ในสื่อบันทึกข้อมูล  เช่น เทป  ทุกสิ้นวันหรือสิ้นเดือน  เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ได้  เช่น  กรณีที่เครื่องคอมพิวเตอร์ขัดข้อง หรือดิสก์เกิดความเสียหาย  เป็นต้น
              บุคลากรทางด้านนี้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้สูงนัก  เนื่องจากลักษณะงานเป็นสิ่งที่มีการกำหนดขั้นตอนไว้ตายตัวแล้ว  แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ  และใส่ใจในการทำงาน 

        
          5. ผู้ใช้ (User)
                  เป็นผู้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์  ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการออกแบบและพัฒนาระบบมาก  เพราะผู้ใช้ระบบจะเป็นผู้ตัดสิน และระบุความต้องการลงไปว่าต้องการให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานอะไรบ้าง  ซึ่งบรรดานักคอมพิวเตอร์ต่างๆก็จ้องพยายามตอบสนองความต้องการของผู้ใช้นั้น

 

จัดทำโดย : กลุ่มภารกิจบริการและพัฒนาสื่อการเรียนการสอน สำนักคอมพิวเตอร์ วิทยาเขตสงขลา